สำหรับผู้ที่มีร้านค้าออนไลน์อยู่แล้ว หรือผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจ E-Commerce คุณรู้หรือไม่ว่า? นอกจากการมีเว็บไซต์ซักหนึ่งเว็บ มีภาพสินค้าประกอบที่สวยงาม รวมถึงข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของคุณแล้ว ร้านค้าออนไลน์ที่ดียังต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่สำคัญมากกว่าที่คุณคิดและไม่ควรมองข้าม เราจึงมี 5 สิ่งที่ E-Commerce ต้องควรใส่ใจเพิ่มขึ้นบนเว็บไซต์ เพื่อรองรับความต้องการและทำให้ลูกค้าอยู่บนเว็บของคุณนานขึ้น ไปดูกันเลยครับว่าจะมีอะไรบ้าง?
1. เว็บไซต์ต้องสวย และไม่ซับซ้อน
เว็บไซต์หรือร้านค้าออนไลน์เปรียบเสมือนเป็นหน้าร้านของเรานั้น ควรออกแบบให้มีลักษณะที่สวยงาม น่าเชื่อเถือ ก็จะสามารถดึงดูดให้กลุ่มผู้บริโภคเข้ามาเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น และนอกจากการออกแบบให้สวยงามแล้ว ยังควรให้ความสำคัญกับระบบหลังบ้านอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดหมวดหมู่สินค้า ช่องทางการติดต่อลูกค้า และมีการใช้งานบนเว็บไซต์ที่ไม่ยุ่งยาก เพราะลูกค้าออนไลน์นั้นมีโอกาสสูงมากที่จะออกจากเว็บไซต์ไปได้ทุกเมื่อเร็วกว่าที่คุณคิด
2. การแสดงสถานะสินค้า (Real Time Update)
หากสินค้าในเว็บของคุณใน Category ใดหมดสต็อค หรือเหลือจำนวนน้อยชิ้น การมีสถานะแสดงผลในการแจ้งให้ผู้บริโภครับรู้ ก็จะสามารถช่วยให้ง่ายต่อการตัดสินใจซิ้อของลูกค้ามากขึ้น นอกจากจะแสดงถึงความจริงใจแล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับร้านค้าออนไลน์ของคุณดูน่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่ควรปล่อยให้สต็อคสินค้าแสดงผลว่า “ไม่มีสินค้า” หรือ “หมด” นานเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ซื้อเปลี่ยนไปเป็นลูกค้าของร้านค้าออนไลน์คู่แข่งในที่สุด
3. ตะกร้าสินค้า (Shopping Cart)
เป็นระบบที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งระบบตะกร้านั้นเปรียบเสมือนการบันทึกข้อมูลและจำนวนสินค้าที่เราทำการเลือกซื้อก่อนถึงขั้นตอนการชำระเงิน ทั้งนี้หากระบบมีความเสถียรและมีประสิทธิภาพที่ดี ก็จะช่วยให้การซื้อ-ขาย เป็นไปได้ง่ายและรวดเร็ว
4. ชำระเงิน ต้องปลอดภัย
ระบบรักษาความปลอดภัยในการชำระเงิน (Payment) เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคเป็นกังวลมากที่สุด สำหรับขั้นตอนการชำระเงินทางออนไลน์ เนื่องจากมีความเสี่ยงและความไม่มั่นคงปลอดภัยจากกลุ่มผู้ที่ไม่หวังดีอย่าง Hacker ที่อาจจะคอยดักขโมยข้อมูลบัตรเครดิตอยู่ก็เป็นได้ ดังนั้นหากคุณมีระบบชำระเงินที่หลากหลายช่องทาง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า อาทิเช่น มีระบบการโอนเงินผ่านตู้ ATM มีระบบการจ่ายเงินแบบ PayPal หรือมีระบบการชำระเงินโดยการซื้อบัตรเติมเงินสดแทนการโอนเพื่อจ่ายเงิน ก็จะทำให้ลูกค้ามีทางเลือกและรู้สึกสบายใจขึ้นที่ได้เลือกช่องทางที่ตนรู้สึกปลอดภัยมากที่สุด เป็นต้น
5. ระบบการจัดส่งสินค้า (Delivery)
หลังจากจบขั้นตอนการชำระเงินไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการจัดส่งสินค้าที่ผู้บริโภคได้ทำการเลือกซื้อไป ในส่วนนี้ไม่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกจัดส่งสินค้า เช่น ด้วยวิธีส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียน EMS หรือจัดส่งสินค้าผ่านบริษัทขนส่งเอกชนรายต่างๆ รวมถึงการจัดส่งสินค้าด้วยตัวเองก็ตาม ควรที่จะมีระบบติดตามสถานะสินค้าของการจัดส่งให้กับผู้บริโภคด้วย เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อใจและมั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าที่สั่งซื้อชิ้นนั้นๆ
เมื่อคุณทำการสำรวจองค์ประกอบข้างต้นจนเป็นที่เรียบร้อย ถ้าหากร้านค้าออนไลน์ของคุณยังขาดส่วนไหนอยู่บ้าง ก็ควรรีบทำการเพิ่มเติมในส่วนนั้นโดยทันที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับร้านค้าของคุณเอง สำหรับผู้ที่มีทุกองค์ประกอบตามข้างต้นแล้ว ก็ควรที่จะรักษามาตรฐานให้ดีและหมั่นพัฒนาปรับปรุงร้านค้าให้สะดวกพร้อมใช้งาน รวมถึงชวนดึงดูดใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอยู่เสมอ
ที่มา: Etda pixabay.com