นิตยสาร Nikkei Asian Review มีบทความตั้งคำถามถึงอนาคตของ “ที่ทำงาน” ว่าควรมีบทบาทอย่างไร จึงจะเหมาะสมกับคนทำงานยุค Millennial Generation ที่มีวิถีชีวิตและวิธีคิดเปลี่ยนแปลงไปจากคนรุ่นก่อนอย่างมาก
เราเห็นบริษัทไอทีหลายแห่งเริ่มสร้างบรรยากาศสำนักงานล้ำสมัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น กล่องสำหรับนอนพักผ่อนระหว่างวัน สวนพฤษชาติกลางตึก รวมถึงสวัสดิการอื่นๆ เช่น บริการนวดผ่อนคลาย อาหารกลางวันฟรี อนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงมาที่ทำงาน บริการซักรีด เป็นต้น
Hiroya Sato ซีอีโอของ De-Sign บริษัทออกแบบภายในของญี่ปุ่น ให้คำนิยามว่า “ออฟฟิศ” ในยุคสมัยใหม่ มีบทบาทเหมือนเป็น “อู่รถ” ของการแข่งขัน F1 โดยหนุ่มสาววัยทำงานจะใช้พื้นที่นี้เข้ามาเปลี่ยนยาง เติมน้ำมัน แต่กิจกรรมจริงๆ จะเกิดขึ้นในสนามแข่ง เหตุผลเป็นเพราะพื้นที่สำนักงานไม่ใช่สิ่งที่สร้างรายได้ให้กับองค์กร แต่กิจกรรมภายนอกสำนักงานอย่างการไปพบเจอลูกค้า ร่วมประชุม หาลูกค้าเป้าหมายรายใหม่ๆ ต่างหากที่เป็นสิ่งทำเงิน
ในรอบหลายปีให้หลัง มีแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับสถานที่ทำงานเกิดขึ้นมาก เช่น แนวคิด hot desk หรือไม่มีโต๊ะประจำตำแหน่ง เพื่อให้เกิดการใช้พื้นที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีพนักงานจำนวนหนึ่งไม่ได้อยู่ประจำโต๊ะตลอดทั้งวัน หรือสำนักงานบางแห่งก็เริ่มอนุญาตให้ “ยืนทำงาน” (standing desk) ตามแนวคิดว่าการยืนช่วยให้มีประสิทธิภาพของการทำงานดีกว่าการนั่งบนเก้าอี้
สำนักงานบางแห่งมีโต๊ะทำงานให้เลือกหลายหลาย เช่น เก้าอี้แบบร้านกาแฟ หรือพื้นที่โซนเงียบเหมือนกับในห้องสมุด ที่ห้ามเปิดเสียงมือถือและห้ามพูดคุยกัน นอกจากนี้ พื้นที่ common room ที่มีอุปกรณ์สันทนากรอย่างวิดีโอเกม โต๊ะปิงปอง หรือเกมฟุตบอลโต๊ะ ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามสำนักงานสมัยใหม่
พื้นที่สำนักงานแบบแชร์หรือ Co-working Space ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมักอยู่ในทำเลดีกลางเมือง เดินทางสะดวก และช่วยประหยัดสำหรับคนทำงานสมัยใหม่ที่ไม่ได้ต้องการเช่าพื้นที่ประจำไว้ตลอดเวลา การมีพื้นที่ให้เช่าใช้เป็นรายครั้ง อาจสะดวกกว่าการทำงานในร้านกาแฟ ตัวอย่างบริษัทที่ให้บริการพื้นที่เหล่านี้คือ WeWork ซึ่งมีสำนักงาน co-working space ในเมืองใหญ่ทั่วโลก
ส่วนในญี่ปุ่นที่พื้นที่กลางเมืองหายาก กลับกลายเป็นว่า “ร้านคาราโอเกะ” ที่เป็นห้องปิดส่วนตัว ตั้งอยู่ในทำเลดี กำลังพัฒนาตัวไปเป็นพื้นที่เช่าในตอนกลางวัน โดยร้านคาราโอเกะบางแห่งในโตเกียว ดัดแปลงพื้นที่ชั้นล่างสำหรับให้นอนพัก ห้ามร้องเพลงรบกวน, พื้นที่ชั้นสองสำหรับเช่าห้องทำงานหรือประชุม ส่วนพื้นที่ชั้นบนเท่านั้นที่สงวนไว้สำหรับร้องเพลง
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของพื้นที่ทำงานยุคใหม่ น่าจะเป็นภาพสะท้อนของสภาวะประชากร (demographic) วัยทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป ความสัมพันธ์ของคนกับที่ทำงานไม่เหมือนเดิม งานประจำอาจไม่ใช่คำตอบ และงานพาร์ทไทม์หรือจ้างเป็นรายชิ้นเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น
Brand Inside เคยรายงานเรื่อง วิธีการบริหารคนของ Google ซึ่งก็น่าจะเป็นภาพสะท้อนของการทำงานสมัยใหม่เช่นกัน
ที่มา: Nikkei Asian Review
CR: Isriya Paireepairit